ผู้บริหารสงสัยว่าผมใช้หลักสูตรอะไรในการให้คำปรึกษา?
อัปเดตเมื่อ 2 เม.ย. 2563

นึกย้อนกลับไปตอนที่เริ่มงานผู้ช่วยที่ปรึกษา ผมเองก็ได้ถามคำถามนี้กับทางที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นที่ผมชื่นชม ท่านตอบว่า หลัก 適当(Te-ki-Tou) คือ การปรับตามสภาพที่เกิด ไม่ได้ยึดติดอะไร และเมื่อถามที่ปรึกษาที่มีตำแหน่งสูงท่านอื่น ก็บอกเหมือนกันว่า นี่คือสิ่งสำคัญของคุณสมบัติที่ปรึกษา
ในวันนั้นผมเองก็ไม่เข้าใจ จนได้เห็นที่ปรึกษาที่ยังมีประสบการณ์น้อย ใช้หลักการเข้ามาช่วยในการให้คำปรึกษา ปรากฏว่า หลักการนั้นผูกมัดและทำให้กิจกรรมเดินไปได้ก็จริง แต่ไม่สามารถสัมผัสถึงคุณค่าที่คนทั่วไปอยากจะเข้าถึงได้ กล่าวคือสัมผัสไม่ได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน
อีกข้อที่สังเกตเห็นคือ คนที่เก่งในการให้คำปรึกษานั้น มีความสามารถในการวินิจฉัย และเขียนโครงการวินิจฉัยได้ดี จึงทำให้มองเห็นจุดสำคัญ ซึ่งสิ่งนี้ไม่สามารถบอกได้ว่า ในองค์กรไหนจะต้องใช้กิจกรรมใดเข้ามาปรับปรุง และแม้พื้นฐานที่ผมใช้จะเป็นหลัก Kaizen, QCC, ISO, Logical Thinking แต่ก็ต้องปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กร ย้อนกลับมาที่หลักการ ผมจึงมองเห็นว่า ควรเรียกว่าหลักของ น้ำ น้ำปรับตามสภาพภาชนะที่บรรจุ น้ำที่อยู่นิ่งนั้นย่อมเน่า น้ำจึงควรมีการเคลื่อนไหว ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ น้ำที่หากรวมพลังโฟกัสดีๆ จะสามารถตัดของแข็งได้ แต่น้ำในที่นี้ต้องเป็นน้ำที่ไหลขึ้นที่สูง ไหลไปสู่จุดมุ่งหมายที่วางไว้
ซึ่งการกำหนดจุดมุ่งหมายที่จะไปและขั้นตอนที่จำเป็นนั้น ต้องอาศัยผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มองปัญหาออก รู้วิธีการที่จะไป ผ่านการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ฝึกฝนอย่างหนัก นี่คือสิ่งที่ทำให้ที่ปรึกษาระดับสูงนั้น มีค่าตัวสูง และสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าได้คุ้มค่าตัวเสมอ
การฝึกฝนของที่ปรึกษานั้น ไม่มีทางลัดใดๆ ได้เลย นอกจากให้บริการลูกค้าอย่างสุดหัวใจ คิดหาวิธีการต่างๆ จนได้มันสมองของที่ปรึกษามาไว้กับตัวเอง