
ปัญหาที่มักพบเจอ
ในองค์กรที่ต้องใช้ที่ปรึกษา

ไม่รู้ว่า "ไม่รู้อะไร"
เป็นจุดบอดที่ยากจะรับรู้ได้ ปัญหา 2 อย่างที่พบได้ในทุกคนคือ ไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร และ ไม่รู้ว่ารู้อะไรที่คนอื่นไม่รู้ นี่เป็นเหตุผลนึงที่ทำให้ผู้ที่มีความถ่อมตัวอยู่เสมอเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จได้ไกล เพราะการตระหนักว่าไม่รู้อะไร นำพามาซึ่งการแสวงหา และเปิดใจรับความรู้
บริษัทใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จ มักจะจ้างพวกผมเข้าไปด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่นี้เองครับ เขาแค่บอกว่า การที่เรามาถึงตรงนี้ได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่เรายังคงต้องการมุมมองจากบุคคลที่สาม ซึ่งหลายๆ ครั้ง กิจกรรมที่ทางที่ปรึกษานำเข้าไปช่วยองค์กร ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนได้

ตั้งเป้าหมายดรรชนีชี้วัดได้ไม่เหมาะสม
การตั้งเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการทำงาน แต่หลายๆ องค์กรตั้งเป้าหมาย หรือ ดัชนีชี้วัดเพียงเพื่อให้ผ่านกำหนดมาตรฐานเช่น ISO เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อองค์กรเลย
ดัชนีชี้วัดที่ดีมาจากการแตกโจทย์ของนโยบายบริษัท กำหนดทิศทางให้ชัดเจนว่า ในแต่ละปี แต่ละไตรมาส ทางผู้บริหารต้องการนำพาบริษัทไปที่จุดไหน ซึ่งตรงนี้ที่ปรึกษาสามารถที่จะแนะนำการตั้งเป้าหมายที่มีความสอดคล้องกันทั้งในองค์กร และมุ่งเน้นกิจกรรมที่เกิดประสิทธิผล โดยมีตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบปัญหา และประเด็นที่ควรปรับปรุง

ไม่รู้แนวทางการวิเคราะห์และปรับปรุง
ปัญหาหลายๆ อย่างที่เรื้อรังของบริษัทมักถูกแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการวิเคราะห์ที่ถูกต้องเหมาะสม ที่ปรึกษานั้นอาจไม่ได้มีความสามารถเฉพาะทาง แต่สามารถนำพาผู้มีความสามารถเฉพาะทางให้สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ด้วยการใช้เครื่องมือหรือแก้ปัญหาตามความเหมาะสมของสถานการณ์
นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ที่สามารถแนะนำแนวทางการปรับปรุงที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ได้ผลลัพธ์สูง ซึ่งสิ่งนี้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้บริษัทได้เป็นอย่างมาก

ไม่รู้ว่าวิธีการที่ทำอยู่ไม่เกิดประสิทธิผล
ความเคยชินที่ทำต่อๆ กันมา เปรียบเสมือนช้างที่ถูกผูกติดต่อไม้ตั้งแต่ยังเล็ก จนไม่รู้เลยว่ามันมีกำลังมากพอที่จะกระชากตอไม้นั้นได้แล้ว
ที่ปรึกษาจะช่วยเข้ามาจัดมุมมองที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ตั้งคำถามที่ทำให้ตระหนักรู้ ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ทีมงานเกิดความตระหนักในความเป็นไปได้ ตระหนักว่าสิ่งใดที่ทำแล้วเกิดประสิทธิผล สิ่งใดที่ทำต่อๆ กันมาจนหลงลืมวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของงาน
เมื่อปรับแนวคิด และการทำงานใหม่แล้ว จะทำให้คนทำงานได้สบายขึ้น เพราะทำงานเฉพาะที่มีความสำคัญจริงๆ บริษัทก็สามารถก้าวไปข้างหน้าได้รวดเร็วกว่าบริษัทคู่แข่งได้ไม่ยาก

ไม่ทบทวนสมรรถนะของธุรกิจ
คำญี่ปุ่นกล่าวว่า ที่พักขั้นบันได นั้นเป็นสิ่งสำคัญ หากมัวแต่เดินขึ้นบันไดอย่างเดียว ก็คงจะเหนื่อยและลืมไปว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง
แต่ละกิจการมักเร่งรีบกับงานหลักๆ ที่ต้องทำเพื่อตอบสนองลูกค้าให้ทันเวลา จนลืมไปว่าสิ่งที่จะทำให้เราเติบโตขึ้นไปได้อย่างก้าวกระโดด จริงๆ แล้วคืออะไร ปัจจุบันมีปัญหาอะไรที่เราเก็บแต่ไม่แก้บ้าง
ทักษะสำคัญหนึ่งของที่ปรึกษา คือ การตั้งคำถามที่ทรงพลัง หลังจากตัวชี้วัดถูกตั้งแล้ว ที่ปรึกษาจะดูประสิทธิภาพ และประสิทธิผลผ่านดัชนีชี้วัด และทำให้เกิดกระบวนการทบทวนกิจกรรมของบริษัทอย่างต่อเนื่อง

เร่งทำกำไรจนลืมสร้างรากฐานองค์กร
ความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทจะต้องมีคือ การมีกำไร เพื่อให้บริษัทสามารถมีกำลังที่จะจ่ายภาษีและจ้างงานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ แต่หลายๆ ครั้งที่เราจะเห็นบริษัทที่ยิ่งทำกำไรยิ่งเหนื่อย ยิ่งเพิ่มยอดขายยิ่งมีปัญหา ทำการตลาดออกไปก็ไม่สามารถไขว่คว้าลูกค้ามาไว้ได้ เหตุผลนั้นก็เพราะรากฐานขององค์กรยังไม่แน่น บุคลากรยังขาดความรู้ ความสามารถ ขาดกำลังที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตไปยังขั้นต่อไป เปรียบเสมือนคนที่ขาดการศึกษา แม้ได้โอกาสมาก็ยากที่จะไขว่คว้าโอกาสนั้นไว้ได้ แม้จะคว้าไว้ได้ก็ต้องแลกมาด้วยความพยายาม และเหน็ดเหนื่อย
การมีที่ปรึกษาดีๆ จะช่วยสร้างฐานองค์กรให้แน่น พร้อมรองรับการเติบโตขององค์กรอย่างมีเสถียรภาพ

ปัญหาการสื่อสารระหว่างแผนก ความร่วมมือกันในการทำงาน
เรียกได้ว่า มีทุกองค์กรกับปัญหานี้ และเป็นสิ่งที่ที่ปรึกษาทำให้เกิดประสิทธิผลได้มากที่สุดในประสบการณ์ที่ผ่านมา ปัญหาหลายๆ อย่างไม่ได้มีสาเหตุจากตัวปัญหาเอง แต่เป็นปัญหาเพราะคนในบริษัทแบ่งเขาแบ่งเรา ไม่ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
อีกประเภทคือ มีความผูกพันธ์ มีความสนิทสนมกันมากจนเกินไป เช่น เป็นญาติกัน เป็นสามีภรรยากัน จนยากที่จะพูดสิ่งที่กระทบกระเทือนใจ เพราะต้องการรักษาสัมพันธ์ที่ดี
ที่ปรึกษาจะเข้าไปเป็นตัวกลาง และค่อยๆ กะเทาะกำแพงระหว่างแผนกออกอย่างแยบยล กว่าจะรู้ตัว พนักงานแต่ละแผนกก็พากันไปเลี้ยงข้าวฉลองความสำเร็จกันเรียบร้อยแล้ว
Related Link
Shincodo
ช่วยเหลือธุรกิจท่านอย่างไร?
-
ผลกำไรที่เพิ่มขึ้น
-
ยกระดับบุคลากรของบริษัท
-
ยกระดับองค์กรอย่างเป็นระบบ
-
สร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งให้องค์กร
-
ได้รับความรู้ที่เหมาะสมกับองค์กร
-
พันธมิตรทางธุรกิจ
แนวทางการให้คำปรึกษาของ Shincodo
-
เน้นความ "เข้าใจง่าย"
-
ใช้การ Training & Coaching เพื่อปฏิรูปและพัฒนาพฤติกรรม
-
สอนให้คิดอย่างเป็นระบบ ขยายกรอบความคิด
-
เป็นผู้ช่วยประสานงานทั้งแนวตั้งและแนวนอน
-
ปรับปรุงองค์กรตามลักษณะขององค์กร ไม่ยึดวิธีปฏิบัติขององค์กรอื่น ...